Brook Education
ทำความรู้จัก 7 Layers ของ Metaverse
25/05/2022
เมตาเวิร์ส หรือ Metaverse คำที่ศัพท์ที่เราได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่องในหลายเดือนที่ผ่านมาก เป็นคำที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เมื่อพูดถึงเมตาเวิร์สคงได้ยินกันบ่อยว่าเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริง มีสิ่งแวดล้อมคล้ายโลกจริง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน และ สามารถทำกิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้คนได้ ผ่านอวตาร หรือ อัตลักษณ์เฉพาะตัวที่สร้างขึ้นในรูปแบบบต่างๆ ในที่นี้อาจจะหมายถึงรูปแบบ 3 มิติ เพื่อเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ มีชีวิตชีวาเหมือนเข้าไปดำเนินชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย
คำว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือ จักรวาลนฤมิต เกิดขึ้นครั้งแรกจากนิยายไซไฟ เรื่อง ‘Snow Crash’ โดย นีล สตีเฟนสัน ปี 1992 เป็นการรวมคำระหว่าง Meta และ Universe หมายความถึง การสร้างสิ่งต่าง ๆ โดยระบบคอมพิวเตอร์ให้เหมือนโลกจริงๆ ที่ผู้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนจริงผ่านการสร้างอวตาร
ตามนิยามของเมตาเวิร์สยังเป็นแนวคิดในอุดมคติ ที่ต้องใช้เวลาและรอให้มีการพัฒนาเพิ่มเติมให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเมตาเวิร์สนี้มีรูปร่างใกล้เคียงกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (World Wide Web) ที่มีการปฏิสัมพันธ์ส่งต่อของข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือการสื่อสารเพื่อให้การทำงานของเมตาเวิร์สนี้เชื่อมโยงกัน สำหรับอนาคตการเป็นเมตาเวิร์สนั้นจะเป็นการสร้างสรรค์และการรวมกันของสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากการกำหนดศูนย์กลางเน้นการกระจายอำนาจไม่มีใครมาแทรกแซงหรือควบคุมได้ ลักษณะเช่นเดียวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ทุกคนเป็นคนยืนยันข้อมูล ไม่มีใครควบคุมใครได้ที่ทำให้เกิดความมีเสถียรภาพสูงมาก
Jon Radoff นักออกแบบและพัฒนาเกม ได้แบ่งระบบนิเวศ (Ecosystem) ของเมต้าเวิร์ส แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ชั้น โดยลักษณะการแบ่งชั้นของ Radoff นี้มีกรอบแนวคิดเช่นเดียวกับ OSI model (Open Systems Interconnect) ที่แบ่งระบบการสื่อสารและคมนาคมเอาไว้เป็น 7 ชั้น เช่นเดียวกัน
1. Experience ประสบการณ์ – เกม | โซเชียลมีเดีย | อีสปอร์ต | ดูหนัง | ช็อปปิ้ง
ประสบการณ์ (Experience) คนมักคิดถึง Metaverse ว่าเป็นรูปแบบ 3D เท่านั้น แต่ในจริงๆแล้วเมตาเวิร์สไม่ใช่ทั้งรูปแบบ 2D หรือ 3D เป็นรูปแบบหรือลักษณะอยู่ในพื้นที่หนึ่งที่เปลี่ยนแปลงรูปได้ หรือ dematerialization
ในรูปแบบของเกม อย่าง Fortnite หรือ Beat Saber ที่ใช้อุปกรณ์สวมใส่เป็นตัวกลางในการเล่นเกม หรือ การประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ที่ประชุมแบบเสมือนจริงได้ สมัยก่อนเมื่อนึกถึงการแปลงกิจกรรมมาสู่โลกเสมือนจริง คนมักมองเป็นข้อด้อยที่จะทำให้คนใช้งานเสียโอกาสทางด้านประสบการณ์ตรงจากกิจกรรม แต่อย่างไรก็ตามการสร้างโลกเสมือนจริงจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนได้เข้าถึงกิจกรรมมากขึ้นเช่น การเล่นเกมใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนั้น ๆ ได้ หรือ แม้แต่การชมคอนเสิร์ตที่เมื่อก่อนต้องแย่งกันจองพื้นด้านหน้าสุดใกล้เวที แต่ถ้ามีโลกเสมือนจริงก็จะทำให้แฟนคลับสามารถใกล้ชิดศิลปินได้แม้จะดูจากที่บ้านก็ตาม
2. Discovery การค้นพบ – โซเชียลมีเดีย | โฆษณา | การค้นหาบนอินเตอร์เน็ต | การจัดเรทตติ้ง
การค้นพบ (Discovery) จะเป็นการผลักดันให้เกิดการทำความรู้จักในประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งกลุ่มที่เข้าไปหาประสบการณ์เอง (Inbound) ผ่านการค้นหาข้อมูลอย่าง Search engine หรือ โซเชียลมีเดีย หรือ การเดินทางจากระบบคอมพิวเตอร์มาสู่คน (Outbound) ในรูปแบบ การทำโฆษณาในหน้าเว็บไซต์ โฆษณาจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
การค้นพบนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น การค้นพบด้วยการขับเคลื่อนเนื้อหาด้วยตัวชุมชน คือลักษณะที่คนมีความสนใจในหัวข้อนั้นๆอยู่แล้ว เกิดการแบ่งปันเนื้อหา แลกเปลี่ยนความรู้หรือสิ่งที่สนใจระหว่างกัน เมื่อแลกเปลี่ยนกันมาก ๆ กลายเป็นการสื่อสารลักษณะการทำตลาดได้ เช่น
- การพูดถึง NFT ที่มีการพูดถึงอย่างมาก ทั้งมีคนชอบและคนไม่ชอบ การพูดถึงนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคนสองกลุ่ม แลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่มีตัวกลางใด ๆ มาแทรกแซง เกิดชุดความรู้เรื่อง NFT ขยายไปยังคนหลายกลุ่มเกิดเป็นความสนใจ ซึ่งทำให้ภาพ NFT มีคนสนใจเยอะ พัฒนามาเป็นการขายในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เรียกสิ่งที่เกิดนี้ว่าเป็น การค้นพบ
- อีกรูปแบบหนึ่งของการค้นพบ คือลักษณะ real-time presence features การที่มีข้อมูลบางอย่างแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อเข้าระบบในเว็บไซต์สำหรับเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็น Steam, Xbox หรือ PlayStation และเห็นสถานะแจ้งเตือนว่ามีเพื่อนเล่นเกมอยู่นั้นคือการแสดงข้อมูลเพื่อจูงใจ ทำให้คนเห็นอยากเข้าไปค้นข้อมูลหรือร่วมเล่นเกม หรือ อย่างใน Clubhouse ที่จะแสดงจำนวนคนแสดงคนติดตามเป็นลักษณะหนึ่งที่จะทำให้คนค้นพบและเข้ามาสนใจ
3. Creator Economy เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ - เครื่องมือออกแบบ | สร้างเว็บไซต์ | ระบบวิเคราะห์
เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ (Creator Economy) เทคโนโลยีที่ผู้สร้างสรรค์ใช้ในการสร้างประสบการณ์เพื่อให้คนสนใจและเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นเกม การพัฒนาเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ ในยุคแรกของการพัฒนาเขียนโค้ดสร้างเป็นเว็บไซต์ธรรมดาเน้นข้อมูล ซื้อของหยิบใส่ตะกร้าจ่ายเงิน ยุคถัดมาหน้าเว็บไซต์มีมิติ การซื้อขายสินค้าสามารถมองเห็นสินค้าได้หลากหลาย และปัจจุบันเว็บไซต์มาเป็นแบบสำเร็จรูป ระบบเรียนรู้ข้อมูลจากการเก็บข้อมูล คนที่ใช้งานสามารถใช้งานได้ด้วยไม่กี่คลิก หรือสร้าง 3D สำหรับเกม ก็มีเครื่องมืออย่าง Unity และ Unreal ที่สร้างภาพ 3D ได้ง่ายดายกว่าเดิมโดยไม่ต้องมาเริ่มเขียนโค้ดหรือรัน APIs เบื้องต้นใดๆ
4. Spatial Computing การประมวลผลเชิงพื้นที่ - 3D Engines | VR/AR/XR | การจำเสียงและท่าทาง
การประมวลผลเชิงพื้นที่ (Spatial Computing) เป็นการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลจากโลกเสมือนจริงเพื่อนมาจำลองพื้นที่ให้กับโลกเสมือน ใช้เทคโนโลยีต่างๆมาสร้างพื้นที่ในแบบ 3D การประมวลผลนี้ใช้เทคโนโลยีสองแบบด้วยกันคือ เทคโนโลยีในบนฮาร์ดแวร์เพื่อสร้างพื้นที่ และ การใช้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆเพื่อให้คนสามารถใช้หรือบังคับระบบ ตัวอย่างการใช้ซอฟต์แวร์ เช่น การทำ 3D จาก Unity และ Unreal Engine, การทำแผนที่ภาพถ่ายด้วยวิธีการโฟโตแกรมเมตรี (Geospatial Mapping) ใน Niantic Planet-Scale AR และ Cesium, การจดจำเสียงและการสั่งงานด้วยท่าทาง, การรวบกันของข้อมูล (Data Integration) โดยการเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เพื่อนำใช้งานในการวิเคราะห์และประมวลผล
5. Decentralization ระบบไร้ตัวกลาง - เทคโนโลยีบล็อกเชน | เทคโนโลยี Edge Computing
ระบบไร้ตัวกลาง ลักษณะพื้นที่ฐานที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ DNS ที่คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เก็บค่า IP ของแต่ละครั้งในการเข้าเว็บไซต์ เพื่อระบุถึง ไอพีแอดเดรส ของชื่อนั้นๆ เป็นชื่อที่ผู้จดทะเบียนระบุให้กับผู้ใช้เพื่อเข้ามายังเว็บไซต์หรือลิ้งก์ต่างๆ
อีกลักษณะหนึ่งที่ปัจจุบันพบเห็นได้คือ เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ เชื่อมโยงกันในเครือข่ายด้วยกระบวนการเข้ารหัส แต่ละข้อมูลมีการทดสอบความถูกต้องที่จัดเก็บข้อมูลเพียงชุดเดียวไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางในการควบคุม โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้และเห็นได้ชัดเจน คือ Decentralized Finance (DeFi) คือ ระบบทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง ทำงานด้วยระบบคำสั่งที่กำหนดเงื่อนไขไว้ให้ปฏิบัติตาม (Smart Contract) บนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถพัฒนาและตรวจสอบระบบได้ทุกขั้นตอน มีความโปร่งใสและยากที่จะโกง
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Edge Computing เป็นวิธีการเลือกใช้หน่วยประมวลผลในคลาวด์ที่อยู่ใกล้กับต้นทางข้อมูลมากที่สุดเพื่อลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูล สามารถพบได้ในอุปกรณ์สื่อสารระดับท้องถิ่นจำพวกเกตเวย์หรือเราท์เตอร์
6. Human Interface เครื่องมือเชื่อมระหว่างคนและโลกเสมือนจริง - โทรศัพท์มือถือ | แว่นตาอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ | การสั่งงานด้วยเสียง
เครื่องมือเชื่อมระหว่างคนและโลกเสมือนจริง (Human Interface) ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้เชื่อมโยงประสบการณ์กับโลกเสมือนจริง ปัจจุบันอุปกรณ์ที่เข้าถึงและใช้ง่ายที่สุดคือ สมาร์ทโฟน โทรศัพท์ที่ไม่ได้เป็นเพียงโทรศัพท์อีกต่อไป ด้วยความสามารถของอุปกรณ์และซอฟต์แวร์/แอพพลิเคชั่น สามารถสร้างนวัตกรรมอำนวยความสะดวกในการที่จะเข้าถึงโลกเสมือนจริงได้มายิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตัวอ่านเซนเซอร์ AI เทคโนโลยี การจดจำคำสั่งเสียงและท่าทาง หรือ แว่นตาอัจฉริยะ
สำหรับอุปกรณ์ที่กำลังเติบโตพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือนจริง คือ Oculus อุปกรณ์สวมใส่ และ เทคโนโลยีที่ประยุกต์ระบบ AR และVR เข้ากับอุปกรณ์ หรือแม้แต่เครื่องพิมพ์แบบ 3D ที่ประยุกต์เข้ากับการทำเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าเป็นแฟชั่นรูปแบบใหม่
7. Infrastructure โครงสร้างพื้นฐาน – 5G | Wi-Fi | 6G | คลาวด์ | ชิปประมวลผลกราฟิก (GPUs)
โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์ต่างๆ เชื่อมโยงกับระบบอินเตอร์เน็ตเข้าสู่เครือข่ายโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ Wi-Fi สัญญา 5G 6G ผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตระดับโลก เช่น Starlink, Verizon, AIS, Dtac, True ซึ่ง 5G เป็นระบบโทรคมนาคมที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมีระบบการถ่ายโอนข้อมูลอย่างรวดเร็ว มีความหน่วง (Latency) ที่ต่ำกว่า 4G ทำให้เชื่อมโยงเครือข่ายเร็วขึ้นไม่กระตุก ทั้งนี้สัญญาณ 5G ยังเพิ่มความเสถียรในการควบคุมอุปกรณ์ทางไกลให้มีควานน่าเชื่อถือมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตดังกล่าวยังเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ต่อพื้นที่ได้มากขึ้น ประมาณ 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม.
นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อในลักษณะของชิ้นส่วนชิป Semiconductors ชิปประมวลผลต่าง เช่น ชิปของ NVIDIA, AMD, Apple ฯลฯ โดยชิปเหล่านี้เข้ามาช่วยเรื่องการประมวลผลการทำงาน รวมไปถึง โครงสร้างพื้นฐานในลักษณะของระบบการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ เช่น iCloud, Google Cloud, Tencent Cloud, Oracle เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า เมื่อมองลึกเข้าไปยังเลเยอร์ทั้ง 7 ของเมตาเวิร์สแล้ว ระบบนิเวศทั้งหมดเชื่อมโยงเข้าหากัน เหมือนโครงสร้างที่ในทุกชั้นจะต้องอำนวยความสะดวกในการทำงานของแต่ละเลเยอร์ โดย โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตเป็นชั้นที่คอยเชื่อมคนเข้าสู่เมตาเวิร์ส มีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นจำนวนมากเป็นส่วนประกอบเชื่อมให้คนได้เข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส ส่วนนี้คือชั้นของ Human Interface ทั้งนี้การเข้าไปอยู่ในเมตาเวิร์สแล้วนั้น ตัวจักรวาลเมตาเวิร์สนั้นยังมีลักษณะแบบไร้ศูนย์กลาง ที่ไม่สามารถมีใครเข้าไปแทรกแซงได้ เกิดการแข่งขัน และมีความหลากหลายทางข้อมูลที่อาศัยระบบ Spatial Computing ในการนำข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็นโลกเสมือนจริง ให้ผู้คนได้เข้าไปใช้พื้นที่หรือสัมผัสโลกเสมือนผ่านการสร้างสรรค์ของผู้สร้าง (Creator Economy) นำเสนอประสบการณ์ (Experience) สำหรับผู้เข้าใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าไปยังเมตาเวิร์สจะต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อให้เกิดการค้นพบ (Discovery)
ที่มา
https://medium.com/building-the-metaverse/the-metaverse-value-chain-afcf9e09e3a7
https://venturebeat.com/2022/01/26/understanding-the-7-layers-of-the-metaverse/
https://www.businesstimes.com.sg/technology/wealth-investing/bt-explains-the-metaverse-and-its-7-layers
https://www.weforum.org/agenda/2022/02/future-of-the-metaverse-vr-ar-and-brain-computer/
https://www.iotforall.com/5-key-technologies-for-the-development-of-the-metaverse